วันพุธที่ 30 เมษายน 2568
24 เม.ย. 2568 11:11 | 769 view
@pracha
‘ชัชชาติ’ ลุยปารีส ไม่ใช้งบหลวง เรียนรู้โมเดลเมืองสีเขียว ระบบรางแห่งอนาคต
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมหารือภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) ระหว่างวันที่ 23 - 25 เม.ย.68 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นำโดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer: CSO) และนายคุณานพ เลิศไพรวัลย์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานการต่างประเทศ เดินทางเข้าร่วมการประชุมหารือภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับ AFD โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร กรุงปารีส และ AFD พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จด้านการพัฒนาเมืองในกรุงปารีส และแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ โดย AFD ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดประชุมหารือกับผู้บริหารเมือง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรธุรกิจไม่แสวงหากำไรและธุรกิจนวัตกรรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการวางผังเมืองอย่างยั่งยืน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความหยุ่นตัว และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นแบบปฏิบัติที่ดีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินโครงการความร่วมมือในอนาคตได้ ทั้งนี้ AFD ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมฯ ในครั้งนี้ ให้กรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวผ่านเฟสบุ๊กไลฟ์ ในขณะเยี่ยมชมพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จด้านการพัฒนาเมือง ปารีส ว่า
“ทาง AFD เชิญมานานแล้ว เรื่องที่มาดูหลายอย่างที่ได้เรียนรู้จากเขา มีคอนเซบเมือง 15 นาที การพัฒนาระบบรถไฟที่มีการลงทุนมากที่สุดในยุโรป และดูเรื่องภาวะฝุ่น การจัดการขยะ การพัฒนาย่าน ส่วนเรื่องที่จตุจัรตามตลอด ติดต่อกับผอ.(สปภ.)ตลอด ก้าวหน้าไปได้ดี ความสูงจากเดิม 26 เมตร ลดลง ด้านหลัง 8 เมตร ด้านหน้า 9 เมตร ก็ลุยต่อ ส่งกำลังใจให้ ที่มาทางนี้คือนัดไว้นานแล้วยกเลิกไม่ได้ มางานไม่ได้มาเที่ยว พยายามนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงเรื่องต่างๆ ทางฝรั่งเศสมีความร่วมมือกันมาตลอด มีโครงการพัฒนาถนนเดินได้ที่พระโขนงก็ส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วย ที่มาไม่ได้ใช้งบประมาณหลวง มา 3 วัน จะรีบกลับ”
สำหรับภารกิจในวันที่ 23 เม.ย.68 ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้หารือกับผู้แทนองค์กร Société des Grands Projets (SGP) และองค์กร La Fabrique du Métro ได้นำเสนอแผนงานใหม่ของโครงการโครงสร้างพื้นฐานระบบรางระดับชาติ โดยเฉพาะโครงการ Grand Paris Express ซึ่งเป็นเครือข่ายรถไฟใต้ดินวงแหวนขนาดใหญ่รอบกรุงปารีส พร้อมทั้งนำเสนอโมเดลเสมือนจริงของสถานีใหม่ การปรับปรุงการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ และแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนจากการก่อสร้าง รวมถึงกระบวนการวางแผน การออกแบบ และเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังระบบรถไฟใต้ดินแห่งอนาคต ซึ่งโครงการ Grand Paris Express นี้ ไม่ได้เป็นเพียงระบบขนส่งใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจของเมืองใหม่ที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเชื่อมโยงทุกชีวิตเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสถานี Saint-Denis Pleyel หนึ่งในสถานีสำคัญของโครงการ Grand Paris Express ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นจุดเชื่อมต่อหลักของรถไฟใต้ดินสายใหม่ในเครือข่ายขนาดใหญ่ระดับมหานคร ตั้งอยู่ในย่าน Saint-Denis ซึ่งกำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมใหม่ของชานเมืองทางเหนือของปารีส และจะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง 4 สายหลัก (สาย 14, 15, 16 และ 17) ของ Grand Paris Express โดยออกแบบให้รองรับผู้โดยสารมากกว่า 250,000 คนต่อวันในอนาคต
จากนั้น ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้หารือกับ Mr. Pierre Rabadan รองนายกเทศมนตรีกรุงปารีส และคณะผู้แทนจากสถาบันวางผังเมืองกรุงปารีส หรือ APUR (Atelier Parisien d’Urbanisme) เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในมหานครยุคใหม่และการปรับตัวของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนักวางผังเมืองจาก APUR ได้แสดงแผน “Plan Canopée” หรือ “แผนปลูกหลังคาเขียว” ซึ่งตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ร่มไม้และพรรณพืชในเมืองให้ได้อย่างน้อย 30 เฮกตาร์ภายในปีค.ศ. 2030 โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนหลังคาอาคาร โรงเรียน ถนน และลานสาธารณะให้เป็นแหล่งสีเขียวที่มีชีวิต พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ และสุขภาพจิตของประชาชน จากนั้น Mr. Pierre ได้นำคณะได้นำคณะเดินชมโครงการปรับเปลี่ยนถนนสายหลักให้เป็น “rues végétalisées” หรือ “ถนนสีเขียว” ซึ่งมีการปลูกต้นไม้ แปลงดอกไม้ และสร้างทางเดินเท้าที่ยั่งยืน เพื่อลดความร้อนสะสมในเมือง
นอกจากนี้ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ประชุมหารือกับผู้แทน Paris’s Urban Cooling Operator เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการพลังงานและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในระดับเมือง ผ่านระบบทำความเย็นรวมศูนย์ของกรุงปารีส หรือ “Réseau de froid” เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ให้บริการทำความเย็นแก่พื้นที่ขนาดใหญ่ของเมืองด้วยวิธีที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ Fraîcheur de Paris คือเครือข่ายทำความเย็นที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยใช้พลังงานจากแหล่งธรรมชาติ เช่น น้ำจากแม่น้ำแซน ผ่านระบบแลกเปลี่ยนความเย็นและท่อลำเลียงใต้ดิน เพื่อกระจายความเย็นไปยังอาคารสำคัญกว่า 700 แห่งทั่วกรุงปารีส รวมถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ โรงพยาบาล สำนักงาน และห้างสรรพสินค้า โดยได้นำคณะเข้าชมศูนย์ควบคุมหลัก ซึ่งจัดแสดงข้อมูลเรียลไทม์เกี่ยวกับอุณหภูมิ การใช้พลังงาน และการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ข่าว
30 เม.ย. 2568 16:23 64 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 16:20 62 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 16:16 62 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 16:12 67 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 14:24 189 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 14:09 74 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 13:44 111 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 13:17 158 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 12:55 89 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 12:32 90 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:34 148 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:28 125 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:27 93 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:24 182 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:13 105 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:06 81 views