วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม 2568
14 ก.ค. 2568 14:10 | 73 view
@nipon supapoom
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “กรอบเจรจาและรับมือผลกระทบภาษีทรัมป์” ในงานเสวนาโต๊ะกลม กรุงเทพธุรกิจ Roundtable : The Art of The (Re) Deal โดยระบุว่า การเจรจาภาษีกับสหรัฐนั้นใช้เวลาในการเจรจามามากว่า 100 วันแล้ว และที่ผ่านมายังมีความไม่ชัดเจน และไม่มีความแน่นอน และยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราเห็นได้ในช่วงที่ผ่านมาคือความพยายามของสหรัฐฯในการลดการขาดดุลการค้า โดยต้องการเพิ่มการเปิดตลาดเพื่อให้สินค้าสหรัฐเข้าสู่ตลาดต่างๆ มากขึ้น (Market Access) ที่ต้องมีการตกลงกัน ในเรื่องของการเปิดตลาด และต้องมีการคุยเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ทุกขั้นตอน
นายพิชัยกล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ยอมรับว่าสหรัฐใช้การเจรจาที่เป็นข้อเสนอฝ่ายเดียว ที่ไม่เหมือนกับการเจรจาข้อตกลงเสรีทางการค้า (FTA) และสหรัฐเสนอว่าจะต้องการสิ่งต่างซึ่งไม่เหมือนกับการเจรจาที่ผ่านมาที่เป็นการเจราที่ฟังข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย ตนย้ำว่าเราต้องรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน รักษาสมดุล และผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากมากแต่เราก็ต้องทำให้ได้โดยยึดประโยชน์ร่วมกัน
นายพิชัยกล่าวว่า ในการเจรจาภาษีกับสหรัฐอยู่บนหลักการที่ทีมเจรจายึดอยู่ ดังนี้
1.ไทยเราต้องเปิดตลาดให้กว้างขึ้น ในสินค้าที่สหรัฐอยากขาย และเราอยากซื้อ แต่ไทยเราต้องดูเรื่องของการเปิดตลาดที่ไม่กระทบกับการทำ FTA ของประเทศต่างๆ ที่ทำกับไทย โดยการเสนอให้สหรัฐนำสินค้าเข้ามาในระดับ 0% ที่ไทยผลิตไม่ได้ และต้องนำเข้า หรือของที่ผลิตในไทยแล้วไม่เพียงพอ โดยการป้องกันภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะในภาคเกษตรนั้นยังมีอยู่
นายพิชัยกล่าวว่า ข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งไปให้พิจารณาโดยเราเปิดตลาดให้สหรัฐแล้ว 63-64% และเพิ่มเป็น 69% ไทยจะมีการเปิดตลาดสินค้าบางอย่างที่ไทยไม่เคยเปิด และไทยก็ต้องเปิดมากขึ้น เช่น ลำไย ปลานิล ตามที่สหรัฐฯขอไว้ ส่วนตลาดยานยนต์ ไทยกำลังคิด เดิมไทยผลิตเยอะก็จะไม่ได้เปิดให้ แต่ถ้าไทยเปิดให้ คิดว่าถ้าเปิดสหรัฐฯก็คงเข้ามาไม่ได้ง่าย เช่น รถพวงมาลัยซ้าย เพราะเขามีตลาดอื่นทั่วโลกคงไม่ได้เข้ามาขายที่เรามาก
2.ส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจไทยในสหรัฐมากขึ้น เพราะสหรัฐต้องการส่งออกมากขึ้น และทำฐานผลิตในประเทศสหรัฐให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เช่น การลงทุนเรื่องเกษตรแปรรูป เรื่องของสินค้าที่เราต้องซื้อจากสหรัฐ โดยไทยเราดูในเรื่องของพลังงานมากขึ้น โดยปัจจุบันสหรัฐมีปริมาณสำรองเรื่องของพลังงานค่อนข้างมากทำให้ราคาพลังงานมีราคาต่ำ เช่น ก๊าซธรรมชาติขายอยู่แค่ 2-3 ดอลล่าร์ต่อล้านBTU ถูกกว่าราคาตลาดที่ 10-11 ดอลล่าร์
3.การให้ความสำคัญกับการป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยข้อเสนอของสหรัฐนั้นจะให้มีการเพิ่มการใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local content) เป็นโจทย์ที่เราต้องดูว่าสหรัฐจะกำหนดในสัดส่วนเท่าไหร่ โดยอาจจะเพิ่มจาก 40% ในปัจจุบัน อาจเพิ่มเป็น 60-70% ที่เป็นต้นทุนที่จะใช้ Local content จากประเทศไทย และประเทศต่างๆ ที่สหรัฐกำหนดมากขึ้น เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์
นายพิชัยกล่าวว่า ไทยต้องเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส โดยต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้นเพื่อทดแทนการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกลดลงเหลือ 58% จากก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ 70% ในจำนวนนี้ ไทยส่งออกไปสหรัฐฯประมาณ 18% ซึ่งถือว่า ส่งออกไปสหรัฐค่อนข้างสูง
นายพิชัยระบุว่า รัฐบาลได้เตรียมซอฟต์โลนจำนวน 2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐ
“ซอฟต์โลนดังกล่าวจะดำเนินการผ่านแบงก์รัฐ ซึ่งเราจะคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.01% เพื่อช่วยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐ ซึ่งอาจจะนำเงินไปอุดหนุนสภาพคล่อง ลงทุน หรือ ดูแลสินค้าในสต็อก เป็นต้น” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เตรียมมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม โดยให้แต่ละภาคธุรกิจไปคิดมาว่า ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไร ตนยอมรับว่า ยังไม่รู้ว่าผลการเจรจากับสหรัฐฯในเรื่องที่สหรัฐฯจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้กับไทยจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ไทยก็ได้พยายามเสนอข้อเจรจาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย โดยสหรัฐฯต้องการที่จะลดปัญหาการขาดดุลการค้ากับไทย ดังนั้น ทางแก้ปัญหา คือ ไทยต้องนำเข้าสินค้าและลงทุนในสหรัฐฯให้มากขึ้น
นายพิชัยกล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ แน่นอนว่าประเทศไทย ก็อยากเร่งเจรจา รัฐบาลไทยเองก็เช่นกัน ยอมรับว่าที่ผ่านมาอาจมีปัจจัยหรือเงื่อนไขบางประการที่ทำให้การดำเนินการต้องใช้เวลา และอาจทำให้ดูการดำเนินการของไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่นบ้าง แต่รัฐบาลมีความพยายามอย่างเต็มที่ในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ และกำหนดท่าทีในการเจรจาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการที่ไทยดำเนินการล่าช้ากว่าประเทศอื่นเพียงเล็กน้อย กลับเป็นข้อได้เปรียบ เพราะทำให้ได้เห็นแนวทางของประเทศอื่นก่อน และสามารถปรับแผนให้รอบคอบมากขึ้น
นายพิชัยกล่าวว่า การเจรจาต้องมองให้ลึกกว่าประเด็นภาษี เพราะยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯใช้นโยบายกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่
นายพิชัยกล่าวว่า อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Local Content อย่างจริงจัง เพราะภูมิภาคนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการกระจายสินค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ และหากไม่สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ ก็อาจสูญเสียโอกาสทางการค้าในระยะยาว
“การจะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ผ่านข้อกำหนดด้านภาษีเท่านั้น แต่ต้องวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีความสามารถแข่งขัน และต้องปรับตัวให้รวดเร็วในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” นายพิชัยกล่าว
ข่าว
14 ก.ค. 2568 16:30 56 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 16:11 57 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 16:06 61 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 16:03 69 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 15:50 72 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 15:44 76 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 15:41 70 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 15:04 83 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 14:58 93 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 14:51 98 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 14:46 104 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 14:44 96 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 14:35 103 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 14:10 74 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 13:53 82 views
ข่าว
14 ก.ค. 2568 13:48 95 views