วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2568
17 ก.ค. 2568 12:24 | 128 view
@pracha
“แบงก์ชาติ” ขอรอผลเจรจาภาษีทรัมป์ ก่อนประเมินผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย แนะภาคธุรกิจฉวยโอกาสเร่งปรับตัว เพิ่มศักยภาพ-ขีดความสามารถในการแข่งขัน ชงทบทวนเพดานค้ำประกันสินเชื่อเปิดช่องเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน จับตาสินค้าทะลักเข้าไทย ห่วงกลุ่มเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอ่วมหนัก
17 ก.ค. 2568 -นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งต้องรอดูว่าท้ายที่สุดแล้วผลการเจรจาจะออกมาในทิศทางไหน แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มเห็นข่าวผลการเจรจาของหลายประเทศทยอยออกมาแล้ว ตรงนี้ถือเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญของการเร่งเจรจาให้จบ เพื่อให้ทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การที่จะรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ความชัดเจนนั้น การทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน เป็นสิ่งสำคัญและต้องหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้มีการหารือร่วกันอย่างต่อเนื่อง ว่าสิ่งที่ควรทำเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง โดยสิ่งที่น่าดีใจ คือ ระหว่างการพูดคุยกัน ไม่ได้มองแค่เรื่องระยะสั้น การเยียวยา แต่ยังมีการพูดถึงเรื่องระยะยาวไปจนถึงการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันอีกด้วย
โดยระหว่างนี้ มองว่าสิ่งแรกที่สำคัญ คืออจะต้องมีการเตรียมมาตรการรองรับ ทั้งมาตรการในการบรรเทาผลกระทบ มาตรการในการเยียวยาผู้ที่จะได้รับผลกระทบ และสุดท้ายที่จะละเลยไม่ได้ คือ การใช้โอกาสนี้ในการปรับตัวเพื่อรองรับสำหรับอนาคตที่จะเกิดขึ้น
“ส่วนมากเราจะเน้นเรื่องระยะสั้นเป็นหลัก จนลืมเรื่องระยะยาว แต่ผมมองว่าครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะต้องปรับตัวได้แล้ว ไม่ใช่การจะมาเน้นแค่เรื่องตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเลขการส่งออก หรือตัวเลขการลงทุน แต่ควรถือเป็นดอกาสสำคัญที่จะปรับตัวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น ส่วนผลการเจรจาของหลายประเทศที่มีการเปิดตลาดมากขึ้นนั้น มองว่าเป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะดูข้อมูลของตัวเอง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นมองว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้ น่าจะมาจากหลายช่องทาง ทั้งกลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐฯ และอีกกลุ่มที่เป็นห่วงมาโดยตลอด คือ กลุ่มที่จะถูกกระทบจากสินค้าที่จะทะลักเข้ามาในประเทศ จากการที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ ซึ่งประเทศเหล่านั้นก็จะหาทางส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเยอะ มีความเปราะบางสูง
ส่วนกรณีที่มองว่าหลักเกณฑ์ของ ธปท. ที่เข้มข้นทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้นั้น นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ต้องสร้างความเข้าใจก่อนว่าการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีนั้นไม่ได้เกิดจากเกณฑ์ของ ธปท. แต่มองว่าปัญหาที่เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จริง ๆ มาจากเรื่องความเสี่ยงของผู้ประกอบการ จนทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้ โดยวิธีแก้ไขต้องไปดูที่ต้นเหตุ ซึ่งแนวทางสำคัญ คือ การค้ำประกันสินเชื่อ โดยผ่านกลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการ และช่วยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
“สิ่งที่จะต้องมาทบทวนตอนนี้ อาจจะต้องมาดูว่าสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อควรจะต้องปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากปัจจุบันอยู่ที่ 40% ก็อาจจะต้องมาดูว่ามีความเหมาะสมที่จะต้องเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากความเสี่ยงที่มีมากขึ้น” ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่ีอของผู้ประกอบการนั้น ไม่ใช่แค่จากฝั่งการเงินเท่านั้น แต่ต้นตอของปัญหามาจากเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเร่งปรับตัว เพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่าหากภาคธุรกิจแข่งขันไม่ได้ การสถาบันการเงินจะให้สินเชื่อก็คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถปรับตัว เพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สามารถแข่งขันได้อย่างแท้จริง เชื่อว่าสถาบันการเงินซึ่งก็อยากจะทำกำไร ก็พร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อให้อยู่แล้ว ถ้าเห็นว่ามีโอกาสมากกว่าความเสี่ยง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของข้อเรียกร้องให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ ธปท. จะต้องเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ การที่ ธปท. ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจนั้นได้มีการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ แล้ว เช่นเดียวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ได้เคยมีการชี้แจงอย่างต่อเนื่อง และในระยะต่อไปจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ส.ค. ก็จะมีการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ประกอบด้วย โดยอยากย้ำว่าการตัดสินใจใช้นโยบาย หรือมาตรการต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาด้วย.
ข่าว
17 ก.ค. 2568 17:02 71 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 16:55 76 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 16:01 62 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 15:46 79 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 15:16 116 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 15:11 97 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 14:48 111 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 13:41 56 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 12:54 149 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 12:24 129 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 11:43 162 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 10:56 108 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 10:41 101 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 10:32 101 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 10:18 119 views
ข่าว
17 ก.ค. 2568 10:04 182 views