วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม 2568
22 ก.ค. 2568 15:43 | 94 view
@pracha
ยึดหลักทำงานด้วยการสื่อสารข้อมูลถึงกัน หวังร่วมกันแก้ไขปัญหาและผลักดันเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ‘เผ่าภูมิ’ หวังเห็นคลายล็อกเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อ ดันเงินเข้าสู่ระบบ โยนพิจารณาคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม
22 ก.ค. 2568 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2568 มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท. ในปัจจุบัน โดยยืนยันว่าการพิจารณาแต่งตั้งเป็นไปตามขั้นตอนปกติ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมาการทำงานระหว่ากระทรวงการคลังและ ธปท. เป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด มีการปรับเข้าหากัน และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และส่วนตัวยึดหลักการทำงานว่า หากมีการสื่อสารข้อมูลถึงกัน เข้าใจปัญหาเหมือนกัน ก็จะสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาและผลักดันเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ขณะที่นโยบายการเงินหากเห็นว่าอะไรที่เหมาะสม ก็เป็นความอิสระที่ ธปท. จะสามารถไปพิจารณาดูว่าควรจะดำเนินการแบบใดได้
“ต้องยอมรับว่า 2 รายชื่อสุดท้ายมีดีทั้งคู่ เพียงแต่ว่าคนหนึ่งจะรู้เรื่องภายใน ธปท. ได้ดี คุณสมบัติเหมาะสมมาก ๆ ส่วนอีกคนมีความรู้ที่หลากหลาย แต่ปัจจุบันปัญหาของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเยอะ ปัญหาหลากหลาย ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าผู้ว่าการ ะปท. คนใหม่ อาจจะทำงานยากนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วเชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะ ธปท. ทำงานกันอย่างมีหลักการ และทุกคนทำงานด้วยหลักการทั้งนั้น ผมคิดว่าทุกอย่างไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” นายพิชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่นักเศรษฐศาสตร์แสดงความกังวลว่านายวิทัยอาจจะถูกการเมืองชี้นำและกดดันการทำงานในฐานะ ผู้ว่าการ ธปท. นั้น รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ระบุว่า ยืนยันว่าไม่มีการกดดันอยู่แล้ว หากดูจากสไตล์การทำงานที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันด้วยเหตุและผลมาโดยตลอด ไม่ว่าผู้ว่าการ ธปท. จะเป็นใครเข้ามา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ว่าการ ธปท. คนนั้น แล้วจะต้องใช้สไตล์การทำงานแบบหนึ่ง ยืนยันว่าคลัง และ ธปท. ทำงานด้วยความเข้าอกเข้าใจมาโดยตลอด ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และมองว่าเมื่อนายวิทัยเข้ามาทำงานในฐานะผู้ว่าการ ธปท. แล้ว ก็ต้องรับผิดชอบองค์กร รับผิดชอบงานของตัวเอง ดังนั้นจึงต้องมีความเป็นอิสระในเรื่องแนวคิดและในเรื่องการทำงาน
โดยสิ่งเดียวที่กระทรวงการคลังหวัง คือ การทำงานระหว่างนโยบายการคลัง ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ หากนโยบายการเงินเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็เชื่อว่าจะสามารถเห็นนโยบายการเงินที่ปรับให้สอดคล้องได้ โดยยังมีความเป็นอิสระทางความคิด แต่ทั้งหมดยังเดินหน้าไปด้วยกันได้ แค่เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ส่วนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกของนายวิทัย ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น นายพิชัย ยืนยันว่า ตรงนี้เป็นหน้าที่การพิจารณาของ กนง. ไม่อยากให้ไปคิดล่วงหน้าแทนใคร แต่เชื่อว่าจะมีการประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ทั้งที่ผ่านมา และเหตุการณ์ปัจจุบัน เช่น นโยบายภาษีของสหรัฐฯ เป็นต้น เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม
สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง ซึ่งตอบรับกับข่าวการแต่งตั้งผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ โดยนักลงทุนกังวลว่ากำไรของธนาคารพาณิชย์จะปรับตัวลดลงนั้น นายพิชัย กล่าวว่า “กำไรแบงก์จะลดลง? คิดแบบนั้นแล้วหรือ!” โดยมองว่าจริง ๆ ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์คงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดี ผลประกอบการก็ดี ดังนั้นหากทุกส่วนร่วมกันผลักดันให้เศรษฐกิจดี สุดท้ายผลประกอบการก็จะดีเอง ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะมีการปรับตัวลดลงจะส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) ปรับตัวลดลงไปด้วยนั้น เชื่อว่า ทิศทางดอกเบี้ยที่อาจจะลดลง ไม่ได้แปลว่า NIM จะต้องลดลงเสมอไป เพราะ NIM เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่ระบบสถาบันการเงินจะพิจารณากันเอาเองว่าสอดคล้องกับความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อ หรือไม่ อย่างไร
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ไม่มีข้อโต้แย้งอะไรในการแต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ ธปท. ส่วนเรื่องการทำงานระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท. ในอนาคตนั้น อยากเห็นภาพการทำงานที่มีการพูดคุย หารือกันมากขึ้น เพื่อทำให้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินสอดคล้องและตรงกันมากขึ้น และเข้ามาช่วยกันเหยียบคันเร่งเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ สิ่งที่อยากเห็นการให้ความสำคัญมากขึ้น คือ เรื่องการปล่อยสินเชื่อลงสู่ระบบ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ผ่านมาอาจจะเห็นเกณฑ์ที่เข้ม และแข็งเกินไป เพราะมีการยึดเรื่องเสถียรภาพจนสถาบันการเงินไม่เปิดรับความเสี่ยงเลย จนทำให้สินเชื่อไม่ลงสู่ระบบ แบบนี้ถือเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ที่มองว่าจะต้องพิจารณาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ต้องดูด้วยความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน หรืออะไรต่าง ๆ ที่ต้องดูให้อยู่ในระดับสมดุล
“อยากเห็นนโยบายการคลังและนโยบายการเงินสอดคล้องกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อยากให้ดูเรื่องความเหมาะสม คิดถึงการกระจายสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น วิธีคิดในการออกเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ใช่คิดแค่เรื่องระมัดระวังในการดูแลเรื่องความเสี่ยง เรื่องเสถียรภาพเท่านั้น เพราะหากเอียงไปด้านนั้นมากเกินไปสิ่งที่เกิดขึ้นคือศักยภาพลดลง นั่นหมายความว่าเมื่อเกณฑ์เข้ม เกณฑ์แข็ง ธนาคารปลอดภัย แข็งแรง แต่เงินไม่ลงสู่ระบบตรงนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องมีความสมดุลกันมากขึ้นระหว่างเรื่องเสถียรภาพและศักยภาพ เพราะหากยึดเรื่องเสถียรภาพจนธนาคารไม่เปิดรับความเสี่ยงเลย สินเชื่อไม่ลงสู่ระบบ ตรงนี้จะเป็นผลกระทบกับเศรษฐกิจได้” นายเผ่าภูมิ กล่าว
ข่าว
22 ก.ค. 2568 16:15 87 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 16:12 103 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 15:49 81 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 15:48 78 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 15:43 95 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 15:36 70 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 15:35 83 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 15:26 61 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 14:57 78 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 13:55 179 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 13:34 131 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 13:25 82 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 11:32 123 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 11:21 100 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 11:12 67 views
ข่าว
22 ก.ค. 2568 10:53 152 views