วันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2568
23 ก.ค. 2568 10:42 | 121 view
@pracha
‘สุริยะ’ คอนเฟิร์ม 25 ส.ค.นี้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ใช้รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ผ่านแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ก่อนเปิดใช้ 1 ต.ค. 68 ช่วยลดค่าครองชีพในการเดินทาง ด้าน ‘คมนาคม-กทม.’ ถกพัฒนาระบบฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟฟ้า
23 ก.ค.2568 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป เตรียมเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย โดยจะต้องระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่ลงทะเบียน) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้า ซึ่งบัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียนจะได้สิทธิการใช้มาตรการโดยอัตโนมัติ หากไม่ลงทะเบียน จะต้องจ่ายค่าโดยสารในอัตราปกติ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า การลงทะเบียนดังกล่าว ระบบจะไม่ล่ม เนื่องจากจะใช้รูปแบบคล้ายกับการเปิดให้ลงทะเบียนนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่มีผู้ลงกว่า 18 ล้านคน แต่ระบบสามารถรองรับได้
ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า การลงทะเบียนใช้สิทธิ์มาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายนั้น ทุกคนได้สิทธิ์อย่างเท่าเทียมและการลงทะเบียนไม่มีวันหมดอายุ โดยจะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งจะเริ่มมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 8 สาย รวม 13 เส้นทาง ทั้งสิ้น 194 สถานี ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร มั่นใจว่า เมื่อเปิดใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว อัตราผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20%
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การใช้บริการมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายนั้น ในระยะแรก จะใช้รูปแบบบัตร Rabbit Card สามารถใช้บริการได้ 4 สาย คือ สายสีเขียว, สีทอง, เหลือง, ชมพู ขณะที่บัตร EMV Contactless (Visa/Mastercard) ตามเงื่อนไขธนาคารที่เข้าร่วมให้บริการที่กำหนด สามารถใช้บริการได้กับ 6 สาย คือ สายสีแดง, สีน้ำเงิน, ม่วง, ชมพู, เหลือง, แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (ARL) ทั้งนี้ ในเบื้องต้น หากประชาชนผู้ใช้บริการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าข้ามสาย จะต้องถือบัตร 2 ใบ แต่ชำระค่าโดยสารเพียง 20 บาท ตลอดสายเท่านั้น ส่วนในระยะต่อไปจะนำเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมเข้ามาใช้ในการพัฒนาระบบ อาทิ การสแกนจ่ายด้วย QR CODE สแกนจ่ายค่าโดยสาร เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น
สำหรับมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย และกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังช่วยลดรถยนต์บนถนน ลดอุบัติเหตุ และมลพิษทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมการพัฒนาระบบเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ได้หารือกับ กทม.เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านการจราจร และจัดระบบขนส่งมวลชนที่เป็นฟีดเดอร์ (Feeder) รองรับมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทาง เนื่องจากประเมินว่ารูปแบบการเดินทางในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลจะเปลี่ยนไปเน้นระบบรางมากขึ้น ดังนั้น รถ ขสมก.ซึ่งจะมีการปรับใช้เป็นรถ EV การจัดเส้นทางต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบการเดินทางในปัจจุบัน
ทั้งนี้ มีแนวทางความร่วมมือระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับ กทม.พัฒนาเส้นทางรถเมล์ใหม่ ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาระบบการคมนาคมเพื่อเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ต่อเนื่อง (ปี 2568-2569) โดยจะศึกษาการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางใหม่ในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร แนวคิดการใช้ระบบตั๋วร่วม และแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร รวมทั้งรับทราบปัญหาและอุปสรรคสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการในปัจจุบัน คาดว่าจะได้ข้อเสนอแนวเส้นทางใหม่ภายในปลายเดือนมกราคม 2569
ทั้งนี้ สนข.มีการศึกษารถเมล์เส้นทางใหม่ 111 เส้นทาง ในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และไม่ทับซ้อนกับเส้นทางในแผนปฏิรูปรถเมล์ 269 เส้นทาง เพื่อรองรับและเชื่อมต่อชุมชน หมู่บ้านที่เกิดใหม่ โดยมีเส้นทางใน กทม.ที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้ประมาณ 30 เส้นทาง ซึ่งจะมีการประเมินความเหมาะสมและความต้องการพิจารณาให้เป็นฟีดเดอร์กับรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ด้วย
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รูปแบบการเดินทางใน กทม.มีรถไฟฟ้าเป็นเส้นเลือดหลัก และมีรถเมล์และรถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นเส้นเลือดฝอย โดยที่ผ่านมา กทม.มีบริการ BMA Feeder เดินรถ Shuttle Bus เพื่อผู้โดยสารเข้าสู่รถไฟฟ้า โดยเป็นการให้บริการฟรีเพื่อทดสอบความต้องการของตลาด หากมีปริมาณผู้โดยสารก็เปิดให้เอกชนเข้ามาทำการเดินรถต่อไป เน้นเส้นทางที่มีความจำเป็น ส่วนรถจักรยานยนต์รับจ้าง
“ปัจจุบันมีประมาณ 5,000 วิน มีคนขี่วิน 80,000 คน ซึ่ง กทม.มีคณะกรรมการแต่ละเขตกำกับดูแล มีฐานข้อมูลดิจิทัลเก็บไว้ โดยจะร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการกำกับดูแล ทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพ เบื้องต้นมี 3,000 วิน ที่ตั้งบนฟุตปาธ ทางเท้า ก็จะมีการบริหารจัดการเพื่อให้มีความเหมาะสมกายภาพของพื้นที่และถนนต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า”นายชัชชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตามในส่วนของป้ายรถเมล์ มีทั้งเป็นของ กทม.และของหน่วยงานอื่น ซึ่งจะมีการหารือเพื่อดูตำแหน่งตั้งป้ายรถเมล์ที่เหมาะสม เพื่อเสริมให้การใช้บริการรถไฟฟ้าได้สะดวกไร้รอยต่อ และมีเทคโนโลยีบอกระยะเวลา สายรถเมล์ที่จะมาถึงป้าย โดยใช้ระบบ GPS เชื่อม นอกจากนี้ จะร่วมกับ ขบ.ในการกำกับดูแลรถแท็กซี่ การจอดรับในจุดต่างๆ กรณีไม่กดมิเตอร์ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างเป็นธรรม
ข่าว
23 ก.ค. 2568 16:22 70 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 16:21 50 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 16:01 120 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 15:48 69 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 15:46 71 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 15:44 80 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 15:18 67 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 14:43 87 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 14:27 64 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 14:19 103 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 13:37 87 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 12:19 86 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 11:52 83 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 11:42 67 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 10:42 122 views
ข่าว
23 ก.ค. 2568 10:36 83 views