วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2567
14 ก.พ. 2567 13:53 | 3286 view
@pracha
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล
"ขับเคลื่อนแม่ฟ้าหลวง-ต่อยอดธุรกิจ-พัฒนาคนให้สังคม"
9 - 11 ก.พ.2567 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน)
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีเวลาสนทนาสารพัดเรื่องกับ "คุณดุ๊ก" หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่โดยปกติทุกปีจะมีการอัพเดตความคืบหน้า "งาน" และ "ภารกิจ" ใหม่ๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและโครงการพัฒนาดอยตุง การต่อยอดผลักดันธุรกิจสารพัดในมือ โดยเฉพาะการปั้น "แบรนด์ดอยตุง" ให้ต่อสู้แข่งขันได้ในตลาด รวมถึงพัฒนาคนคืนกำไรให้สังคม ที่มีงานจิปาถะ ทั้งการเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการศึกษา ที่มีคุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา เป็นตัวตั้งตัวตีในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยและต่อยอดการศึกษาให้กับเด็กๆชาวเขา ที่พูดไทยไม่ออก เขียนไทยไม่ได้ ด้วยการนำวิธีการสอนแบบ มอนเตสซอรี่ (Montessori) จากตะวันตก ให็เด็กได้เรียนรู้จากเรื่องที่เขาสนใจสิ่งที่เขาชอบด้วยตัวเอง จาก 8 โรงเรียนนำร่องในพื้นที่ดอยตุงครอบคลุม 24 หมู่บ้าน ตั้งแต่อนุบาลถึง ม.6 วันนี้สามารถขับเคลื่อนไปได้ 53 ศูนย์เด็กเล็ก และ 37 โรงเรียนในระดับ ป.1- ป.3 ในพื้นที่ห่างไกลออกไป การฝึกอาชีพให้กับคนในชุมชนเพื่อไม่ให้ทิ้งถิ่นฐาน ฯลฯ ที่เที่ยวนี้ดูเหมือนจะเป็นปีพิเศษเพราะตัวของคุณดุ๊กเองก็ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านรับใช้สังคมมาถึงครึ่งชีวิตพอดิบพอดี
" ปีนี้ผมจะอายุ 50 ปีแล้ว คิดเล่นๆว่าขอทำงานอีก 5 ปีก็จะถอยออกไปแล้ว ก็มองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ได้ทำมาทั้งชีวิต สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมคิดได้ในวันนี้ก็คือ งานทุกอย่างถ้าเราจะมาทำจริงๆ รันจริงๆโดยใช้ความสามารถเฉพาะของบุคคลมันไม่มีทางทำได้ ถึงทำได้ก็ไม่สำเร็จ ถึงสำเร็จมันก็ไม่สมบูรณ์ เราต้องสร้างฐานความคิดให้คนรุ่นใหม่ ต้องทำให้องค์กรต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาเรื่องต่างๆ ปีกว่าที่ผ่านมาหลายเรื่องผมไม่ได้ลงไปทำเองเหมือนแต่ก่อน แต่เราใช้ธีมในการบริหาร ใช้ตา ใช้ปาก เอาคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญมีความชำนาญในแต่ละด้านมาจับงานที่เขาถนัด ตรงนี้ก็เอาเขามาช่วยกันคิด อีก 5-10 ปีในอนาคตเราอยากได้อะไร เราอยากให้องค์กร อยากให้สังคมเราเป็นแบบไหน ก็มาช่วยกันคิดกัน" คุณดุ๊กกล่าว
ก่อนจะออกตัวว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ใน 2-3 ปีที่เกิดการระบาดของโรคหนักๆ องค์กรได้เรียนรู้หลายเรื่อง อย่างแรกทำให้เรารู้ว่าเราไม่ใช่องค์กรที่มีความเข้มแข็งมากนัก สองจุดอ่อนหลายเรื่องของเราถูกเปิดเผยออกมา จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เรา ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างเยอะมากๆ มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานเยอะ หลายเรื่องเราต้องมองอะไรไปข้างหน้าแบบเยอะมากๆ ต้องคิดอะไรใหม่ๆ ต้องตามให้ทันโลก ว่าตอนนี้เขาสนใจอะไร เขาบริโภคแบบไหน อะไรเป็นกระแส อะไรเป็นเรื่องที่โลกยุตนี้กำลังฮิตหรือสนใจกัน
" อย่างไรก็ตามเราก็ยังหนีธุรกิจ 5 อย่างขององค์กรเราไม่พ้น ได้แก่ หัตถกรรม เกษตร อาหารแปรรูป คาเฟ่ และท่องเที่ยว ผมคงไม่ไปทำรถไฟฟ้าหรือไปทำอะไรที่ไม่ถนัดแข่งกับคนอื่น แบบนั้นไม่ใช่เรา ทำแล้วเจ๊งเราก็ไม่ไปเสี่ยงอยู่แล้ว เราก็ต้องมาดูว่าของในมือเรามีอะไร ดอยตุงมีอะไรไปขาย อย่างทีรู้ว่าธุรกิจของเรา บางเรื่องก็เป็นธุรกิจที่สร้่างกำไรมีรายได้ แต่บางธุรกิจของเราก็จงใจให้ขาดทุนเพราะต้องเอาไปหล่อเลี้ยงผู้คน ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาสำรวจแต่ละธุรกิจว่าจะดำเนินการอย่างไร อันไหนเป็นเดอะแบก อันไหนเป็นซุปเปอร์แบก อันไหนเป็นธุรกิจที่อาจจะต้องแบกรับการขาดทุน เพราะต้องดูแลคนต้องสร้างงานช่วยเหลือคน เพราะฉะนั้นวิธีบริหารจัดการในแต่ละธุรกิจก็ต่างกัน ยกตัวอย่าง อาหารแปรรูปกับกาแฟอันนี้เป็นเดอะแบก ส่วนหัตถกรรมพอจะมีกำไรได้แต่ไม่เยอะ ส่วนเกษตรเราก็ต้องทำเพราะเป็นเรื่องที่ช่วยเหลือคน ท่องเที่ยวก็เช่นกัน " หม่อมหลวงดิศปนัดดากล่าว และยอมรับว่าทั้งหมดคือภารกิจคืองานหนักที่ต้องคิดต้องทำอยู่ตลอดเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ทั้งหมดไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนองค์กรแต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายทั้งหมดนับหมื่นนับแสนคนด้วย
คุณดุ๊กเปิดเผยว่า งานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไม่ได้มีแค่การ "สร้างงาน" กับ "สร้างคน" เฉพาะที่ดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เท่านั้น แต่ปัจจุบันได้สยายปีก แผ่เครือข่ายไปอีกหลายพื้นที่หลายจังหวัด ช่วยคนส่งเสริมให้ทุกพื้นที่มีรายได้หล่อเลี้ยงตัวเอง ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ใหญ่ๆ 4 โครงการ คือ 1. โครงการพัฒนาดอยตุง มีประชากรรวม 11,493 คน แบ่งเป็น วัยทำงาน (15-60 ปี) 60% วัยเด็ก 21% วัยชรา อัตราการพึ่งพา 19% 2. โครงการชาน้ำมัน มีประชากรรวม 2,782 คน แบ่งเป็น วัยทำงาน (19-60 ปี) 47% วัยเด็ก (ต่ำกว่า 13 ปี) 28% วัยรุ่น (13-19 ปี) 15% วัยชรา (60 ปี ขึ้นไป) 10% 3. โครงการน่าน มีประชากรรวม 6,232 คน และ 4. โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ป่าชุมชน) มีประชากรที่ได้รับประโยชน์ 71,834 คน 24,325 ครัวเรือน มีพื้นที่ป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ 127 ชุมชน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร อุทัยธานี กระบี่ ยโสธร และ อำนาจเจริญ อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ยังเป็นเดอะแบกหลักที่หล่อเลี้ยงองค์กรและผู้คน ปีที่ผ่านมารายได้รวมจากประชากรทั้งโครงการ 1,106 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ 325 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามธุรกิจใหม่ที่คุณดุ๊กมองว่ามี "โอกาส" แถมยังเป็นการคืน "ลมหายใจ" ให้กับธรรมชาติ คือ การดำเนินงานโครงการจัดการคาร์บอนเครดิต ( Carbon credits) ในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ตอนนี้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้เดินหน้าทำธุรกิจนี้ก่อนใครเพื่อน แถมเป็นเจ้าใหญ่เจ้าแรกๆในตลาดที่ดำเนินการเรื่องนี้ โดยมีการจับมือกับองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายสิบแห่งเพื่อต่อยอดเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันโครงการคาร์บอนเครดิต แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ (ระหว่างปี 2664 - 2566) ครอบคลุมพื้นที่ 192,646 ไร่ ร่วมกับป่าชุมชน 127 แห่ง ประชาชนเข้าร่วมกว่า 71,834 คน 24,325 ครัวเรือน และได้รับความได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจ 20 แห่ง และมียอดเงินในกองทุนกว่า 66,400,107 บาท พื้นที่ดำเนินโครงการระยะที่ 4 (ปี 2567) คิดเป็น 200,000 ไร่ สำหรับแผนงานในปี 2567 มีแผนขยายพื้นที่อีก 150,000 ไร่ ผู้ได้รับผลประโยชน์รวม 72,000 คน และคาดว่าจะได้รับปริมาณคาร์บอนเครดิตปีละ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการจัดตั้งทีมงาน Incubation Center เพื่อบ่มเพาะกิจการชุมชน เพื่อต่อยอดกิจกรรมกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
" เรื่องคาร์บอนเครดิตเรามองว่าเป็นโอกาสที่ดีของเราในอนาคต เพราะเราเริ่มก่อนเพื่อน เราเป็นเจ้าตลาด ขยับก่อนใคร ปีที่แล้วแสนไร่ ปีนี้ 1.5 แสนไร่ ปีหน้าเราตั้งเป้าไว้ 5 แสนไร่ มันอาจจะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ไม่เยอะ แต่มันกินได้ยาว ตรงนี้เราคิดว่ามันเป็นโอกาส เพราะเรามีดาต้ามากกว่าคนอื่น ถ้าเขาทำเองก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี กว่าจะดำเนินการได้ แต่ทุกพื้นที่เรามีข้อมูลหมดเพราะเราทำมาก่อนใครเพื่อน การจะปลูป่าชุมชนได้นอกจากธรรมชาติดีแล้วคนในพื้นที่ก็ต้องดีด้วย ไม่งั้นไม่สำเร็จ ป่าชุมชนในประเทศไทยมี 6 ล้านไร่ เราคิดว่าถ้าเราทำได้สัก 25 % หรือราว 1.5 ล้านไร่ ก็ถือว่าโอเคแล้ว ตรงนี้เราคิดว่าเรามีโอกาส เพราะเราทำเรื่องนี้มา 40 กว่าปี ตอนเราทำคนเก่งๆยังเป็นวุ้นอยู่เลย จุดแข็งของเราคือมีข้อมูลครบถ้วนในทุกพื้นที่ องค์กรไหนอยากจะทำโครงการคาร์บอนเครดิตก็มาร่วมกับเราได้เลย เราเชื่อว่าเราไปทางนี้ได้ อนาคตยังมีดีมานด์ที่เราคิดว่าไปได้" คุณดุ๊กกล่าว
ก่อนขยายความต่อว่าตอนนี้มีหลายองค์กรสนใจจะทำเรื่องคาร์บอนเครดิตกันมาก เพราะโลกอนาคตใครไม่ทำเรื่องนี้คุณก็ค้าขายกับต่างชาติลำบาก ธุรกิจคุณก็ไปต่อไม่ได้ ถูกยบอยคอตหมด ตอนนี้ทุกองค์กรก็กระโดดมาทำเรื่องนี้ แต่หลักการทำคาร์บอนเครดิตของเรา เราจะไม่ตัดต้นไม้ก่อนแล้วค่อยปลูกแบบนั้นไม่ใช่วิธีการของเรา เพราะมันจะทำให้ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะมันจะกระทบหมดถ้าเราไปทำแบบนั้น อาหารที่เรากิน ฝนที่ตกต้องตามฤดูกาลพวกนี้จะมีปัญหาหมด ตอนนี้เทรนด์ใหม่ของโลกที่กำลังมาแรงนอกเหนือจากเรื่องคอร์บอนเครดิต อนาคตเราก็จะมี biodiversity credits หรือ bio-credits หรือ "เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่นำกลไกตลาดมาใช้ในการระดมเงินทุนเพื่อดูแลธรรมชาติ ซึ่งการทำงานของไบโอเครดิต มีลักษณะคล้ายกับการทำงานของคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจ (voluntary carbon credits) ในลักษณะที่ไบโอเครดิตเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ นอกจากจะปลูกป่าแล้วในป่าก็ต้องมีตัวชี้วัดทางชีวภาพที่หลากหลาย มีพืชกี่ชนิด มีสัตว์ประเภทอะไรบ้าง มีนกพันธุ์อะไร ตรงนี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญของไบโอเครดิตทั้งหมด
" วันนี้บอกเลยใครมีข้อมูลมากกว่าในมือ คนนั้นก็ไปได้ก่อน ไปได้เร็ว ไปได้ไกลกว่าใครเพื่อน ตอนนี้ต่างประเทศก็เริ่มมาสนใจเรื่องไบโอเครดิต อนาคตมันจะเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ สร้างอิมแพค สร้างสังคม ปกป้องอนุรักษ์ธรรมชาติ ทำให้คนทำให้องค์กรตระหนักถึงการปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นกระแสใหม่มาแรง ทุกองค์กรต้องตระหนักและเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ หลายองค์กรในต่างประเทศ ในแอฟริกาก็เริ่มดำเนินการเรื่องนี้แล้ว หลายปีก่อนเราพูดเรื่องคาร์บอนเครดิตก็ไม่มีใครสนใจ มาวันนี้ทุกคนก็ต้องมาทำทั้งหมด ต่อไปข้างหน้าไบโอเครดิตก็จะเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กรต้องทำไม่งั้นคุณก็อยู่ไม่ได้" หม่อมหลวงดิศปนัดดาระบุ
กว่าครึ่งชีวิตที่เข้ามาทำงานในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เข้ามาพัฒนาพื้นที่ดอยตุงสืบสานปณิธานที่เป็น "มรดกสุดล้ำค่า" ของสมเด็จย่าฯที่มอบไว้ให้คนไทย แม้จะทำงานสุดพลัง ทุ่มเทกำลังสุดแรงเกิด แต่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และโครงการพัฒนาดอยตุง ยังมี "เรื่อง" มี "งาน" มีสิ่งที่ต้องคิดต้องทำต้องขับเคลื่อนอีกมาก วลีไม่มี "วันหยุด" และ "หยุดไม่ได้" สำหรับคนทำงานยังดังก้องในหูของเขาเสมอ วันนี้แม้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และโครงการพัฒนาดอยตุง จะเดินไปได้ไกลจะเดินไปได้กว้างขวาง สร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาคนพัฒนาพื้นที่ไปได้มาก แต่คุณดุ๊กก็ออกตัวว่ายังมีงานอีกมหาศาลพะเรอเกวียนให้ตัวเอง ทีมงาน และเครือข่าย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและโครงการพัฒนาดอยตุงสานต่อฝ่าฝันกันอีกมาก
" วันนี้เราหยุดไม่ได้และเราไม่สามารถหยุดได้เลย แม่ฟ้าหลวงและดอยตุงเลี้ยงคนมหาศาล เพราะฉะนั้นเราต้องคิดต่อยอดและพัฒนาไปตลอด อย่างที่บอกเราต้องคิดว่าธุรกิจเราทั้งหมดที่มีอยู่จะไปยังไง ดาวเหนือเรามีชัดเจน หัวใจสำคัญคือเราต้องสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ต้องมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ (Agility) พลิกแพลงได้เร็วเราถึงจะอยู่รอดในยุคนี้ อันนี้คือเรื่องสำคัญ ตอนนี้เราก็พยายามฟังข้อมูลจากคนอื่นให้มากขึ้น พยายามทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร มีความรับผิดชอบ สร้างการมีส่วนร่วม วางแผนข้อมูลให้แม่นยำ วันนี้แม้เราจะพยายามให้ทุกคนตัดสินใจ แต่ความอดทนของเราในบางเรื่องก็ยังไม่พอ อย่างที่บอกตอนนี้ผม 50 แล้ว อยากทำงานอีกสัก 5 ปีแล้วค่อยๆถอยออกไป อยากให้องค์กรอยู่ได้โดยไม่ต้องมีผม ให้องค์กร Run ได้ด้วยตัวเอง Agility จะเกิดได้คนที่เป็นเฮดจะต้องสร้างให้เกิดการบูรณาการให้มากที่สุด" คุณดุ๊กเปิดใจเรื่องของทิศทางองค์กรในอนาคต
ที่เขาตีลังกายันหนักแน่นทำทุกอย่างตามรอยเท้า "พ่อ" ที่วางไว้เพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน อย่างเต็มที่อย่างเต็มกำลัง แม้วันนี้ "คุณชายดิศ" ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ราชนิกุลนักพัฒนา เจ้านายติดดินของชาวบ้าน ชายชราผู้บุกป่าฝ่าดงสืบสานปณิธานของสถาบันพระมหากษัติรย์อันเป็นที่รัก อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตราบจนลมหายใจสุดท้าย ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ และจากโลกนี้ไปแล้วตั้งแต่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564 สิริอายุรวม 81 ปี 11 เดือน แต่ "คำพูด" และ "ผลงาน" ที่คุณชายดิศเคยทำไว้จนเป็นที่ประจักษ์แก่แผ่นดินและคนรุ่นหลัง จะได้รับการสานต่อจากลูกชายคนนี้ต่อไปอย่างแน่วแน่และมั่นคง
" ก่อนหน้านี้มีคนพูดว่ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯคือมูลนิธิของตระกูลดิศกุล ผมบอกได้เลยว่ามันไม่ใช่ วันนี้ทุกอย่างก็พิสูจน์แล้ว สิ่งที่สบายใจผมที่สุดก็คือ วันหนึ่งถ้าผมเดินออกไปจากองค์กรนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงหรือโครงการพัฒนาดอยตุง ก็ยังคงอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยตัวของมันเอง มีคนดี มีคนเก่ง มีคนเข้ามาช่วยกันทำงาน ช่วยชาวบ้านช่วยสังคม วันนี้ผมยอมรับว่าบารมีผมไม่เท่าพ่อ ไม่เก่งเหมือนพ่อ ไม่ลุยเท่าพ่อ ไม่มีพลังภายในเหมือนพ่อ แต่สิ่งเดียวที่ผมทำเก่งกว่าพ่อคือยกมือไหว้คนเก่งกว่าพ่อ แต่อะไรที่จะทำให้พ่อเสียชื่อ ผมไม่ทำเด็ดขาด ......วันนี้ถ้ามีอะไรที่จะช่วยสังคม ช่วยชาติ ช่วยบ้านเมือง ช่วยคนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านมีงานทำ ช่วยให้ป่าให้ธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ผมทำหมด ให้ผมไปไหว้ใคร ให้ผมไปกราบใครผมก็ยอม ก่อนหน้านี้ไปเจอใครผมก็ชนกับเขาหมด บนเวทีใส่กันไม่ยั้ง ถ้าความคิดไม่ตรงกัน แต่ตอนนี้เราไปคิดแบบนั้นไม่ได้ เราจะพัฒนาประเทศสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ต้องมีพวก ต้องมี Partner ต้องหาพันธมิตรมาช่วยกันมากกว่าแข่งขันกัน เราต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนงานใหญ่ของชาติถึงจะสำเร็จได้ " คุณดุ๊กทิ้งท้าย
///////////////////////
ข่าว
12 ต.ค. 2567 08:52 57 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 15:32 182 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 15:26 209 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 13:44 235 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 13:19 683 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 13:05 178 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 11:27 203 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 11:24 188 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 11:19 202 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 10:22 198 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 10:18 240 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 09:41 211 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 09:35 145 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 09:30 98 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 09:23 98 views
ข่าว
11 ต.ค. 2567 09:14 90 views