วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2568
17 ก.พ. 2568 09:33 | 614 view
@pracha
‘รัฐ-เอกชน’ชงหลาบโครงการ ครม.สัญจรสงขลา กระตุ้น ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวใต้
จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 ที่ จ.สงขลา และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่ จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ทางจังหวัดสงขลา และภาคเอกชนภาคส่วนต่างๆ ได้เตรียมนำเสนอโครงการต่างๆ ที่ต้องการให้ ครม.ผลักดันต่อไป
สําหรับโครงการที่ จ.สงขลา ได้หารือกับภาคเอกชน และเตรียมเสนอ ครม.สัญจร จ.สงขลา ในครั้งนี้ คือ 1.การนำเสนอโครงการภายใต้กรอบที่กำหนดในการใช้งบประมาณ ดังนี้ จ.สงขลา ได้จัดทำข้อเสนอประเด็น และวาระการพัฒนาของ จ.สงขลา และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติให้จังหวัดนำเสนอประเด็น โครงการสำคัญที่มีความพร้อม และดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี มีจำนวน 5 โครงการ วงเงินงบประมาณ 50,000,000 บาท เป็นผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ทำให้เส้นทางสัญจรชำรุดทรุดโทรมเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงตลาดกลาง พื้นที่ธุรกิจ ส่งผลให้เดือนพฤศจิกายน 2567 จ.สงขลา มีรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 11.25% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัย ได้แก่
1.ด้านซ่อม/สร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ ทั่วถึงครอบคลุม จำนวน 2 โครงการ วงเงินงบประมาณ 39,085,000 บาท ประกอบด้วย 1.1 โครงการฟื้นฟูทางหลวงชนบทที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย-ถนนสาย สข.2080 แยก ทล. หมายเลข 42-บ้านท่าม่วง งบประมาณ 15,700,000 บาท-ถนนสาย สข.2082 แยก ทล.หมายเลข 42-บ้านเทพา งบประมาณ 15,585,000 บาท รวมงบประมาณ 31,285,000 บาท หน่วยงานรับผิดชอบคือ แขวงทางหลวงชนบทสงขลา และ 1.2 โครงการซ่อมแซม และป้องกันการกัดเซาะไหล่ทางหลวงชนบทสาย สข.2004 แยก ทล.43 (กม.ที่ 44+428)-เขตเทศบาลนครสงขลา วงเงินงบประมาณ 7,800,000 บาท หน่วยงานรับผิดชอบคือ แขวงทางหลวงชนบทสงขลา
2.ด้านฟื้นฟู/ส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงชุมชนอย่างยั่งยืน จำนวน 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 39,085,000 บาท ประกอบด้วย 2.1 โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว Hello Hatyai งบประมาณ 5,000,000 บาท หน่วยงานรับผิดชอบคือ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา 2.2 โครงการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการผ้าไทย เพื่อส่งเสริม และสร้างรายได้สู่การท่องเที่ยวชุมชน งบประมาณ 1,915,000 บาท หน่วยงานรับผิดชอบคือ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา และ 2.3 โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว Hi Songkhla สีสันชายหาดวิถีเมืองสองเล งบประมาณ 4,000,000 บาท หน่วยงานรับผิดชอบคือ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา
ส่วนโครงการสำคัญ ที่เป็นความต้องการของภาคีการพัฒนา (กรอ.) มีจำนวน 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 50,000,000 บาทได้แก่ โครงการพัฒนาศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารภาคใต้ ครัวใต้สู่ครัวโลก (Southern Food Hub To The World) งบประมาณ 25,000,000 บาท โครงการพัฒนาศักยภาพเมืองและชุมชนเพื่อสนับสนุนการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก งบประมาณ 10,000,000 บาท โครงการก่อสร้างรางระบายน้ำบริเวณไหล่ทาง เพื่อเป็นแก้มลิงพักน้ำก่อนระบายลงสู่ลำรางธรรมชาติและก่อสร้าง ท่อ box ขนาด 1.50×1.50 เมตร และระบบระบายน้ำใต้ทางเท้า ทางหลวงหมายเลข 407 ตอนควบคุม 0102 ตอนควนหิน-เขารูปช้าง-ต.พะวง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา งบประมาณ 15,000,000 บาท
หอการค้าจังหวัดสงขลา ได้นำเสนอโครงการที่ทางหอการค้าฯ ได้มีความเห็นร่วมกันในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกทาง โครงการที่นำเสนอ เน้นการสร้างศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศ โดยมองว่า จ.สงขลา เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการขนส่ง ดังนั้นหาก ครม.เห็นชอบในการขับเคลื่อน ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งในเรื่องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ลดปัญหาการจราจร ลดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 425สายทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก และตะวันออก) ทางหลวงเลี่ยงเมืองฟรีเวย์ คู่ขนานหมายเลข 4หาดใหญ่-สะเดา ที่จะทำถนนอีกสายคู่ขนานกับถนนกาญจนวนิช จาก ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ ยาวไปถึงบ้านคลองแงะ ต.พังลา อ.สะเดา ซึ่งใช้งบไม่มากนัก แต่สามารถระบายสินค้า เลี่ยงการจราจรที่แออัดได้ นอกจากนี้ จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา) มูลค่า 4 หมื่นล้านบาทเพื่อให้ขับเคลื่อนต่อไปได้
นอกจากการขนส่งทางบกแล้ว ทางน้ำ จะเสนอให้กรมเจ้าท่าทำการขุดลอกร่องน้ำท่าเรือน้ำลึกสงขลาให้ได้ความลึก 9 เมตร เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ พัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมกับท่าเรือปีนัง โดยขอให้อัดงบสำหรับท่าเรือเศรษฐกิจที่สำคัญ แทนการจัดสรรงบไปขุดลอกท่าเรือทุกแห่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจสูงสุด ที่สำคัญ ด้านการท่องเที่ยวนั้น ขอให้ก่อสร้างท่าเรือสำหรับเรือขนถ่ายนักท่องเที่ยวเรือสำราญ ที่จะมีทั้งนักท่องเที่ยวอินเดีย และจีน ที่เดินทางท่องเที่ยวจากสิงคโปร์ ผ่านน่านน้ำสงขลาไปเวียดนาม และญี่ปุ่น ซึ่งหากเรือสำราญแวะพักทอดสมอบริเวณเกาะหนูแล้วมีเรือขนถ่ายเข้ามาท่องเที่ยว ก็จะได้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ของประเทศผ่านทางจ.สงขลา โดยได้เสนอไปทางกระทรวงคมนาคม ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีกำหนดการที่จะเดินทางมาสำรวจพื้นที่ในโครงการนี้วันที่ 17 กุมภาพันธ์
ส่วนภาคการท่องเที่ยว จะเสนอให้มีการบริหารจัดการลดขั้นตอนทางการท่องเที่ยว ด้วยการพิจารณารูปแบบของการเดินทางเข้าประเทศ เปลี่ยนจากการยื่นเอกสารไม่ว่าคน หรือรถเป็นแบบออนไลน์ ส่งเสริมท่องเที่ยวประหยัดงบในการพิมพ์เอกสารหลายร้อยล้านบาทในแต่ละปี ทั้งยังเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และรู้จำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วง สุดท้ายจะต้องทำเรื่องการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศ พำนักกี่วัน แล้วเดินทางไปที่ไหนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งฐานข้อมูลพวกนี้นำมาวิเคราะห์ต่อยอดตลาดท่องเที่ยวได้ รวมถึง การยกเลิกค่าธรรมเนียมนอกเวลา ของตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อยากให้ยกเลิกเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว แนวทางการกระตุ้นการจับจ่ายการค้าชายแดนที่ไม่เคยทำมาก่อน คือการตั้งจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ หากรัฐบาลเห็นความสำคัญ ก็สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องใช้งบ แต่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น
ในบางโครงการที่ทางจังหวัดไม่ได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.แต่เป็นความต้องการของชาวบ้านใน อ.เมืองสงขลา ได้ยื่นหนังสือให้ผมนำเสนอ ครม.ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จากฝั่งเทศบาลนครสงขลา จ.สงขลา ไปยังฝั่ง อ.สิงหนครจ.สงขลา โครงการนี้เป็นความหวังของพี่น้องชาวสงขลามานาน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อเทศบาลนครสงขลา จ.สงขลา ไปยังฝั่ง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจร ลดระยะทางการเดินทางและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างมาก
เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางระหว่างจากฝั่งเทศบาลนครสงขลา จ.สงขลา ไปยังฝั่ง อ.สิงหนครจ.สงขลา ยังคงต้องใช้เส้นทางอ้อมเป็นระยะทางไกลหรือใช้บริการแพขนานยนต์ข้ามฟาก ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้ง แพขนานยนต์ข้ามฟากสามารถใช้ได้จนถึง 22.00 น.เท่านั้น ซึ่งในช่วงเช้า-ช่วงเย็น ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ไม่สะดวกในการเดินทาง และกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าในระดับหนึ่งแล้ว เพราะกรมทางหลวงชนบท ได้ตั้งงบปี 2569 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้แนวทางเบื้องต้นของโครงการ ถ้าการศึกษาของกรมทางหลวงชนบทผ่าน ผมขอความกรุณา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ช่วยอนุมัติงบเพื่อให้สะพานแห่งนี้เกิดขึ้นจริง จะได้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และพัฒนาเมืองสงขลาให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น
และโครงการสร้างโรงพยาบาลอำเภอเมืองสงขลา หรือโรงพยาบาลจังหวัดสงขลา 2 เป็นการคืนโรงพยาบาลให้กับพี่น้องในเขตเทศบาลนครสงขลา และตำบลใกล้เคียงด้วย หลังจากที่โรงพยาบาลจังหวัดสงขลาได้ย้ายออกจากเทศบาลนครสงขลาไปตั้งอยู่ใน ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา ทำให้พี่น้องในเขตเทศบาลนครสงขลาและตำบลใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน ซึ่งพี่น้องในเขตเทศบาลนครสงขลา และตำบลใกล้เคียง อยากได้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพ มีความพร้อมเพื่อดูแลผู้ป่วยในได้ และเพื่อให้พี่น้องได้เข้าถึงสิทธิในการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม และมีคุณภาพ
ข่าว
16 พ.ค. 2568 16:43 61 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 16:39 62 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 15:28 53 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 15:19 133 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 15:16 83 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 14:35 288 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 14:32 72 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 14:20 79 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 14:10 107 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 13:56 120 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 13:49 89 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 12:35 83 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 12:23 127 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 11:26 105 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 11:18 130 views
ข่าว
16 พ.ค. 2568 11:11 117 views